เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 10. อานิสังสวรรค 8. อุกขิตตาสิกสูตร
7. อนวัฏฐิตสูตร
ว่าด้วยความไม่มั่นคง
[102] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นอานิสงส์ 6 ประการ สามารถ
ทำเขตไม่จำกัด1ในสังขารทั้งปวงแล้วทำอนิจจสัญญาให้ปรากฏได้
อานิสงส์ 6 ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุพิจารณาเห็นว่า
1. สังขารทั้งปวงจักปรากฏว่าเป็นของไม่มั่นคง
2. ใจของเราจักไม่ยินดีในโลกทั้งปวง
3. ใจของเราจักออกไปจากโลกทั้งปวง
4. ใจของเราจักน้อมไปสู่นิพพาน
5. สังโยชน์ทั้งหลายของเราจักถึงการละได้
6. เราจักเป็นผู้ประกอบด้วยสามัญญะ2 อันยอดเยี่ยม
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นอานิสงส์ 6 ประการนี้แล สามารถทำเขต
ไม่จำกัดในสังขารทั้งปวงแล้วทำอนิจจสัญญาให้ปรากฏได้
อนวัฏฐิตสูตรที่ 7 จบ
8. อุกขิตตาสิกสูตร
ว่าด้วยนิพพิทาสัญญาเหมือนเพชฌฆาตผู้เงื้อดาบขึ้น
[103] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นอานิสงส์ 6 ประการ สามารถ
ทำเขตไม่จำกัดในสังขารทั้งปวงแล้วทำทุกขสัญญาให้ปรากฏได้
อานิสงส์ 6 ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุพิจารณาเห็นว่า
1. นิพพิทาสัญญา(ความกำหนดหมายความเบื่อหน่าย)ในสังขารทั้งปวง
จักปรากฏแก่เราเหมือนเพชฌฆาตผู้เงื้อดาบขึ้น

เชิงอรรถ :
1 ทำเขตไม่จำกัด หมายถึงทำเขตไม่จำกัดอย่างนี้ว่า “สังขารประมาณเท่านี้ ไม่เที่ยง นอกนี้จะชื่อว่าไม่เที่ยง
ก็หามิได้” (องฺ.ฉกฺก.อ. 3/102/156)
2 สามัญญะ ในทีนี้หมายถึงความเป็นสมณะ ได้แก่ อริยมรรค (องฺ.ฉกฺก.อ. 3/102/156)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :624 }